Thursday, June 29, 2006

สภาพปัญหาที่เกี่ยวกับนโยบายการศึกษา

•    ปัญหาการเคลื่อนไหวคัดค้านเรื่องมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ
           เรื่องนี้เป็นเรื่องเก่าเพราะมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ หรือที่เรียกกันว่าการออกนอกระบบของไทยนั้น มีมานานถึง ๑๖ ปีแล้ว (แห่งแรกคือ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี) จึงถามว่าใครขัดแย้งกับใคร ในเมื่อการออกนอกระบบ มีกฎหมายรองรับสถานภาพไว้หมด อาจารย์คนไหนอยากเป็นข้าราชการต่อก็ได้ หรือถ้าอยากเป็นพนักงานมหาวิทยาลัยก็จัดระบบพนักงานไว้รองรับให้ และที่ห่วงว่าออกนอกระบบแล้วจะทำให้ค่าเทอมแพงขึ้น ก็ไม่ใช่เรื่องจริง แต่สมมุติขึ้นทั้งสิ้น จึงคิดว่าเราต้องเคารพการตัดสินใจของมหาวิทยาลัยแต่ละแห่ง และไม่ใช่เรื่องที่รัฐบาลจะไปฟังให้เป็นอย่างนั้นอย่างนี้ แต่มหาวิทยาลัยผลักดันกระตุ้นรัฐบาลมากกว่า

•    อุปสรรคเกี่ยวกับกฎหมาย โครงสร้าง ระบบการบริหารงานบุคคล และวิชาการของ กระทรวงศึกษาธิการ
                 ขณะนี้โครงสร้างใหม่ของ กระทรวงศึกษาธิการ มีกฎหมายรองรับสมบูรณ์แล้ว แต่ที่ยังไม่สมบูรณ์ คือ กฎหมายอาชีวศึกษา แต่ที่กำลังจะเสร็จ ก็คือกฎหมายการศึกษาเอกชน การศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย ส่วนอาชีวะเอกชนที่ยังตกลงกันไม่ได้ว่าจะอยู่กับสำนักบริหารงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) หรือสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) และสายสามัญจะอยู่กับสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) หรืออยู่ไหน ดังนั้น จะนัดผู้แทนสถานศึกษาเอกชนมาหารือกันในเดือนมกราคม ๒๕๕๐ นี้ แต่ถ้ายังตกลงไม่ได้ ก็ร่างกฎหมายไม่ได้ เพราะรัฐบาลนี้พูดไว้ชัดว่าจะไม่ปรับโครงสร้างใหม่ แต่จะนำโครงสร้างเดิมมาปรับแต่งแก้ไข
•    ระบบการศึกษาที่พอเพียง นโยบายการศึกษาแบบให้เปล่า กับค่าใช้จ่ายที่แพงขึ้น/สูงขึ้น
ตามที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ได้กำหนดไว้ว่า “บุคคลย่อมมีสิทธิเสมอกันในการรับการศึกษาขั้นพื้นฐานไม่น้อยกว่าสิบสองปีที่รัฐจะต้องจัดให้อย่างทั่วถึงและมีคุณภาพโดยไม่เก็บค่าใช้จ่าย” และพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ หมวด สิทธิ และหน้าที่ทางการศึกษา ระบุว่า “การจัดการศึกษาต้องจัดให้บุคคลมีสิทธิและโอกาสเสมอกันในการรับการศึกษาขั้นพื้นฐานไม่น้อยกว่าสิบสองปีที่รัฐต้องจัดให้อย่างทั่วถึงและมีคุณภาพโดยไม่เก็บคาใช้จ่าย” ซึ่งเป็นการกำหนดอย่างชัดเจนว่าเด้กทุกคนในประเทศไทย ทั้งในเขตเมืองและเขตชนบท จะต้องได้รับโอกาสและสิทธิในการศึกษาตั้งแต่ระดับชั้นประถมศึกษาปีที่๑ จนถึงระดับมัธยมศึกษาปีที่ ๖ โดยรัฐไม่เก็บค่าใช้จ่าย
     แต่ในทางปฏิบัติ เกือบทุกโรงเรียนทั้งในเขตเมืองและชนบทยังคงเรียกเก็บค่าธรรมเนียมต่าง ๆ หลายธรรมเนียม ซึ่งทำให้ผู้ปกครองต้องรับภาระค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการเรียนของบุตรหลานเหือนเดิมหรือจ่ายเพิ่มมากกว่าเดิมทุกปี ผลกระทบที่ตามมาคือ ผู้ปกครองมีหนี้สินเพิ่มขึ้น และเกิดปัญหาตามมาคือ ผู้ปกครองทำงานหนักเพื่อหารายได้เพิ่ม ทำให้ไม่มีเวลาอยู่กับครอบครัว เด็กไม่ได้รับการดูแลเอาใจใส่อย่างเพียงพอ



ข่าวที่เกี่ยวข้องกับปัญหาโยบายการศึกษา

นิสิตจุฬาฯ-เปิดสภาวิพากษ์ นโยบายการศึกษา"ในฝัน"
คอลัมน์ นิสิตนักศึกษา

                         เหลืออีกเพียง 2 วัน ก็จะเป็นวันที่น้องๆ นิสิต นักศึกษาจะได้แสดงพลังตัวเอง เข้าคูหาไปใช้สิทธิ์เลือกผู้แทนในดวงใจให้เข้าไปเป็นตัวแทนในการบริหารประเทศ  นอกเหนือจากนโยบายด้านเศรษฐกิจ สังคม และสวัสดิการต่างๆ ที่แต่ละพรรคพยายามชูความต่างเพื่อดึงคะแนนเสียงหลักแล้ว  "นโยบายการศึกษา" เป็นอีกหนึ่งในนโยบายที่แต่ละพรรคยกกันขึ้นมาต่อสู้กันอย่างสุดลิ่ม ไม่ว่าจะเป็นเรียนฟรี 12 ปี, เรียนฟรีถึงปริญญาตรี, ขยายโอกาสทางการศึกษา, พัฒนาด้านไอที คอมพิวเตอร์ อินเตอร์เน็ตในโรงเรียน ฯลฯ ถูกหยิบยกขึ้นมาเป็นเสมือนจุดขายของแต่ละพรรคการเมือง แต่นโยบายเหล่านี้จะได้รับการตอบรับ และตรงใจนิสิต นักศึกษา หรือไม่คงต้องรอวันหย่อนบัตรลงคะแนนวันอาทิตย์ที่ 6 ก.พ.
                    ในการเสวนาเรื่อง "นิสิตกับนโยบายการศึกษาของประเทศ" ที่จัดขึ้นโดยสภานิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อเร็วๆ นี้   เป็นอีกเวทีหนึ่ง นอกเหนือจากจะให้แต่ละพรรคการเมืองได้มาแถลงนโยบายของตัวเองแล้ว ยังเปิดโอกาสให้กับนิสิตได้แถลงถึง "นโยบายการศึกษา" ในดวงใจอย่างที่พวกเขาต้องการด้วย
                     เริ่มด้วยนิสิตน้องใหม่ปี 1 "สิงห์ดำ" ทศพล เชี่ยวชาญประพันธ์ จากภาควิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ เห็นว่า พรรคการเมืองส่วนใหญ่พยายามชี้ให้เห็นว่า เห็นความสำคัญของการศึกษา แต่ตนก็ยังเห็นว่าแต่ละนโยบายยังเป็นนามธรรมและกว้างมาก
                    ในภาพรวมยังขาดกระบวนการที่ชัดเจนและเป็นรูปธรรม พูดแค่ให้ดูว่าสวยหรู แต่ไม่สามารถปฏิบัติได้ อีกทั้งเมื่อขึ้นเวทีแถลงนโยบาย เมื่อถึงเวลาที่นิสิตถามก็พยายามเลี่ยงคำตอบ วกไปวนมา "งานการศึกษาบอบช้ำมามากแล้ว ตั้งแต่ที่ได้มีการปฏิรูปการศึกษา เมื่อปี 2542 จนผ่านมาถึงปัจจุบันยังจับต้นชนปลายไม่ถูก อย่าง Child Center นั่น ยังมั่วมาก”
                  ดังนั้นสิ่งเหล่านี้รัฐบาลชุดใหม่ ไม่ว่าจะเป็นพรรคการเมืองใด ต้องมีความชัดเจนว่า ต้องการให้การปฏิรูปการศึกษา เป็นไปในทิศทางใด และจะทำอะไรต่อไปในอนาคตเพื่อให้บรรจุเป้าหมาย   "พร้อมกันนั้นจะต้องประเมินสิ่งที่ได้ดำเนินการไปแล้วว่าดีหรือไม่ มีปัญหาอย่างไร ต้องแก้ไขตรงไหน อย่ากลัวไม่แก้ไข เพราะกลัวว่าคนอื่นจะว่า ว่าทำผิดมาในอดีต"
                     ทศพลเชื่อว่า หากรัฐบาลต้องการพัฒนาการศึกษาอย่างแท้จริงแล้ว นายกรัฐมนตรี จะต้องมีนโยบายที่ชัดเจนและที่สำคัญ "รมว.ศึกษาธิการ" คนใหม่ จะต้องเป็นรัฐมนตรี "เกรดเอ" เข้าใจเรื่องการศึกษาอย่างถ่องแท้ อย่ามองการศึกษาเป็นเกมธุรกิจ
                    ด้านซีเนียร์ชั้นปี 4 คณะวิทยาศาสตร์ น.ส.สาลินี ขจรพิสิฐศักดิ์ เห็นว่า นโยบายการศึกษา ที่แม้ว่าแต่ละพรรคพยายามชูขึ้นมาเป็นจุดขาย แต่ดูแล้วยังเป็นการ "ขายฝัน" มากกว่าที่จะปฏิบัติได้  เช่น เรียนฟรี จะทำอย่างไรให้เด็กที่ยากจนและขาดโอกาสจริงๆ ได้เรียนทุกคน และเรียนจบมาแล้วจะมีตลาดงานรองรับเขาหรือไม่
ดังนั้น จึงอยากฝากถึงรัฐบาลชุดใหม่ว่า ไม่ว่าใครจะเป็นรัฐบาล ควรนำจุดเด่นของแต่ละพรรคมาบูรณาการออกมาเป็นภาพรวมใหม่ นำไปปฏิบัติได้อย่างแท้จริง  พร้อมกันนั้นจะต้องให้มีการประเมินผลนโยบายทุกๆ ด้านเป็นประจำทุกปี เพื่อทำให้ประชาชนได้รับรู้ความก้าวหน้าการดำเนินงานของพรรคที่เขาเลือกเข้าไปบริหารประเทศ
                      ปัญหาสำคัญที่เป็นอุปสรรคอย่างยิ่งในการพัฒนาการศึกษา คือ ผู้กุมบังเหียนการศึกษา เป็นตำแหน่งที่เหลือจากตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสำคัญๆ สิ่งนี้เองจึงเป็นเหมือนจุดด้อยที่ทำให้นโยบายการศึกษา แม้ว่าจะเด่น แต่ปฏิบัติไม่ชัด   ดังนั้นอยากให้คนที่จะมาเป็นรมว.ศึกษาธิการ เป็นผู้ที่มีความสามารถ และรู้จริงด้านการศึกษา เพราะที่ผ่านมาเด็กเองก็ดูออกว่ามีความสามารถหรือไม่ แต่ทำอะไรไม่ได้
                       ด้านประธานสภานิสิตจุฬาฯ สรัล ศาลากิจ ชั้นปี 4 คณะวิศวกรรมศาสตร์ ฝากถึงรัฐบาลชุดใหม่ว่า อยากให้รัฐบาลเน้นการศึกษา เป็นประเด็นสำคัญอันดับหนึ่ง ในการพัฒนาประเทศ เพราะการพัฒนาด้านศึกษาเป็นการพัฒนาที่ยั่งยืนมากกว่าด้านเศรษฐกิจ หรือสังคมต่างๆ  เพราะหากการศึกษาดี ก็จะทำให้การพัฒนาเป็นไปได้ง่าย แม้จะเป็นการทำงานที่เห็นผลยาก แต่เชื่อว่าหากรัฐบาลทำสำเร็จจะทำให้ประชาชนประทับใจมาก
                       "แม้ว่าขณะนี้แต่ละพรรคจะบอกว่า ต้องการเข้ามาพัฒนาด้านการศึกษา แต่ยังมองภาพไม่ชัดว่าต้องการพัฒนาให้การศึกษาไทยเป็นไปในทิศทางใด ซึ่งปัจจุบันการศึกษาไทย ยังมีปัญหาในระดับสูง” หลายคนถูกปลูกฝังว่า เรียนจบแล้วต้องไปเรียนต่อเมืองนอก ถึงจะมีความเจริญก้าวหน้าในการงาน ซึ่งจุดนี้รัฐบาลใหม่จะต้องเข้ามาทำให้ค่านิยมเหล่านี้หายไป
                     "จะพัฒนาการศึกษาไทยอย่างไร ให้คนต่างประเทศสนใจ และอยากเข้ามาเรียนต่อในประเทศไทยแทน"
                      สำหรับ รมว.ศึกษาธิการคนใหม่ นอกจากจะต้องเป็นผู้ที่มีความรู้ความเข้าใจงานการศึกษาแล้ว ยังต้องรับฟังความคิดเห็นจากเด็ก เพื่อให้รู้ว่าเด็กคิดอย่างไร และต้องการอะไร เพราะรัฐบาลต้องการให้อนาคตของประเทศเป็นอย่างไรก็ต้องสอนให้เด็กเป็นอย่างนั้น คงต้องคอยจับตาดูว่า เสียงสะท้อนนิสิตเหล่านี้ จะทำให้ผู้นำรัฐบาลชุดใหม่ คัดเลือก "ผู้นำการศึกษา" ที่สนองงานพัฒนาการศึกษา สานต่อนโยบายให้เกิดเป็นรูปธรรม
หรือเพียงแค่สนองอำนาจทางการเมืองเท่านั้น
(แหล่งที่มา ข่าวสด   ฉบับที่ 5181 [หน้าที่ 32 ] ประจำวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2548)

Friday, June 9, 2006

ปัญหานโยบายการศึกษา

สิ่งสำคัญที่ต้องตระหนักก็คือ การศึกษาเป็นรากฐานสำคัญของการพัฒนาประเทศทุกด้าน แต่รัฐบาลแทบทุกยุคสมัยกลับไปมุ่งเน้น เฉพาะการขยายตัวทางเศรษฐกิจเป็นหลัก บางรัฐบาลจัดให้การศึกษาอยู่ในลำดับความสนใจกลุ่มท้าย ๆ และแม้ปัจจุบันจะอยู่ในช่วงปฏิรูปทางการศึกษา มีการลงทุนก้อนโต แต่ก็เป็นที่น่าสงสัยว่าจะนำไปสู่การพัฒนาแท้จริงหรือไม่ ดังปรากฏข้อเท็จจริงว่าเรามีงบประมาณด้านการศึกษาถึงสามแสนล้านบาท แต่เมื่อประเมินผลการศึกษาก็พบว่าไม่ได้เน้นการพัฒนาในเชิงคุณภาพ เห็นจาก การสอบวัดผลของนักเรียนระดับมัธยมปลายคราวที่ผ่านมา ส่วนใหญ่คะแนนออกมาต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐานทั้งสิ้น

แนวคิดเกี่ยวกับปัญหานโยบายการศึกษาแห่งชาติ 
ขอเสนอแนวคิดเกี่ยวกับปัญหานโยบาย ในยุคที่รัฐบาลหาเสียงโดยยึดหลักประชานิยม ดังนี้
             1. นโยบายด้านการศึกษา ต้องเกิดจากความจริงใจในการพัฒนา เพราะต้องใช้เวลานานเกินสมัยที่รัฐบาลครองอำนาจ โดยเฉพาะพรรคการเมืองที่เน้นประชานิยม จะไม่สนใจนโยบายการศึกษา
              2. นโยบายที่ผู้นำรัฐบาลได้แถลงต่อรัฐสภา ดูดีทั้งนั้น แต่ปัญหาจริงๆ อยู่ที่การนำนโยบายไปปฏิบัติ(Implementation) ว่ารัฐบาลจะมีความจริงใจ ต่อนโยบายที่ตนแถลงเพียงใด
              3. นโยบายด้านการศึกษาที่ผ่านมา สวนทางโดยสิ้นเชิงกัยวิธีปฏิบัติ ทีให้มีการประเมิน โดยทั้ง สมศ. และ กพร. 2 องค์กรนี้มีพันธกิจหลักในการ "พัฒนา" ระบบการศึกษา และระบบราชการ แต่ศึกษาดูดีๆ จะพบว่า 2 หน่วยนี่แหละทำให้การพัฒนาทั้งการศึกษา และระบบราชการต้องล่าช้า ด้วยรายละเอียดการประเมิน ตัวชี้วัดต่างๆ ที่ค่อนข้างไร้สาระ แต่ทำให้ผู้ปฏิบัติงานจริงเสียเวลามากมาย

สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาแห่งชาติ(มีนาคม 2544) ได้เสนอปัญหาอุปสรรคในการปฏิรูปการศึกษา ซึ่งเกี่ยวข้องกับนโยบายการศึกษา ดังนี้
1)    การเสียสิทธิของประชาชนในการรับการศึกษาขั้นพื้นฐาน
2)    การปฏิรูปกระบวนการเรียนรู้ที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญไม่ลงถึงการปฏิบัติ
3)    วิกฤติศรัทธาต่อครู
4)    มาตรฐานและการประกันคุณภาพการศึกษา
5)    การกระจายอำนาจการจัดการศึกษาสู่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
6)    วิทยาศาสตร์การศึกษา
7)    การปฏิรูปการอาชีวศึกษา
8)    การปฏิรูปอุดมศึกษา
9)    วิกฤติด้านคุณธรรมจริยธรรม
      ปัญหาและอุปสรรคดังกล่าวมีสาเหตุแห่งปัญหาร่วมกันคือ
1)    การขาดการประสานงานความร่วมมือระหว่างหน่วยงาน
2)    ความล่าช้าของกระบวนการพิจารณากฎหมาย กฎกระทรวง และกฎหมายอื่น
3)    การขาดแคลนทรัพยากรเพื่อการปฏิรูปการศึกษา
4)    ช่องว่างระหว่างหน่วยงานนโยบายและหน่วยงานปฏิบัติ

Saturday, May 20, 2006

ข้อเสนอแนะในการกำหนดนโยบายการศึกษา

ข้อเสนอแนะในการกำหนดนโยบายการศึกษาของพรรคการเมืองในประเทศไทย

    1. พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ ได้มี การจัดระบบโครงสร้างและกระบวนการจัดการศึกษาอย่างกว้างขวาง จะเห็นได้จากการให้มีการกระจายอำนาจจากส่วนกลางไปสู่เขตพื้นที่การศึกษา สถานศึกษา และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (มาตร 9(1))
    จึงเป็นการสมควรที่พรรคการเมืองไทยจะได้ศึกษาแนวทางและมาตรการที่เหมาะสมสอดคล้องกับ พ.ร.บ. โดยกำหนดเป็นนโยบายการศึกษาที่จะดำเนินการเพื่อให้บรรลุเป้าหมายและวัตถุประสงค์ดังกล่าว

    2. ใน พ.ร.บ.ยังได้กำหนดกลไกในการจัดการศึกษา เช่นการกำหนดมาตรฐานการศึกษา การประกันคุณภาพการศึกษา การส่งเสริมมาตรฐานวิชาชีพครูและบุคลากรทางการศึกษา การมีส่วนร่วมของชุมชน ครอบครัว สถาบันศาสนา และสถาบันสังคมอื่นๆ
    พรรคการเมืองจึงควรที่จะหยิบยก ประเด็นใดประเด็นหนึ่ง หรือบางประเด็นมา ศึกษาแนวทางที่เหมาะสมและสอดคล้องกับนโยบายของพรรค และกำหนดนโยบายการศึกษาที่ ส่งเสริม และวางแนวปฏิบัติขยายผล โดยคำนึงถึงรูปแบบของสังคมและเศรษฐกิจของประเทศเป็นหลักสำคัญ
    3. พรรคการเมืองสามารถที่จะกำหนดนโยบายในรูปของโครงการใหม่ ๆ ในบริบทต่าง ๆของพ.ร.บ. การศึกษา  และกำหนดงบประมาณสนับสนุน เช่นการจัดการศึกษาแก่คนพิการ หรือบุคคลที่มีความสามารถพิเศษ

    4. พรรคการเมืองสามารถมีบทบาทที่สำคัญในการหยิบยกปัญหาในด้านการศึกษา และกำหนดนโยบายเพื่อแก้ไขปัญหาเหล่านั้น เช่น ปัญหาความไม่เสมอภาคในการให้การศึกษา ปัญหายาเสพย์ติดในโรงเรียน เป็นต้น
    การกำหนดนโยบาย ตลอดจนมาตการในการแก้ไขปัญหาเหล่านั้น จะเป็นทางหนึ่งที่ทำให้สาธารณชนได้รับรู้ถึงปัญหาพร้อมทั้งแนวทางแก้ไขที่พรรคการเมืองจะดำเนินการ

    5. การกำหนดนโยบายการศึกษาในเรื่องของเทคโนโลยีและคอมพิวเตอร์เป็นเรื่องที่สำคัญ เพื่อให้ประเทศไทยมีทรัพยากรบุคคลที่มีประสิทธิภาพ สามารถแข่งขันได้ในระดับโลก จึงสมควรที่พรรคการเมืองจะให้ความสำคัญในเรื่องนี้ โดยการกำหนดไว้เป็นนโยบาย

    6. นโยบายการศึกษาของพรรคการเมืองควรให้ความสำคัญเกี่ยวกับครู และผู้ปกครอง ซึ่งมีส่วนสำคัญที่สุดในกระบวนการเรียนรู้ของเด็กในวัยเรียนระดับต่าง ๆ

7. แม้ว่าใน พ.ร.บ. การศึกษา จะให้ควาสำคัญกับการกระจายอำนาจการศึกษาจากส่วนกลางไปยังเขตพื้นที่การศึกษา สถานศึกษา และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น แต่รัฐบาลและพรรคการเมืองสามารถกำหนดมาตรฐานการศึกษา ตลอดจนการจัดสรรเงินงบประมาณ เงินอุดหนุน เงินช่วยเหลือ ตลอดจนการริเริ่มโครงการใหม่ ๆ ได้

8. พรรคการเมืองมีอำนาจในการใช้กลไกระบบภาษีและเงินอุดหนุน รวมทั้งเงินกู้เพื่อการศึกษา โดยสามารถกำหนดไว้เป็นนโยบายการศึกษาได้

Friday, May 19, 2006

นโยบายการศึกษาของพรรคการเมืองในต่างประเทศ

นโยบายการศึกษาของพรรคการเมืองในต่างประเทศ

    จากการศึกษาและเปรียบเทียบนโยบายของพรรคการเมืองในต่างประเทศ พบข้อแตกต่างดังนี้

1.    การกำหนดนโยบายการศึกษาของพรรคการเมืองในต่างประเทศ ได้ให้ความสำคัญในเรื่องของเทคโนโลยีและคอมพิวเตอร์มากที่สุด

2.    ครูเป็นผู้ที่มีความสำคัญที่สุดในการให้การศึกษา พรรคการเมืองมีแนวทางที่แตกต่างกันในนโยบายครู ตั้งแต่นโยบายเข้มงวด เช่น ให้มีใบอนุญาติประกอบวิชาชีพ มีการประเมินผล จนไปถึงการให้รางวัลจูงใจ ให้ทุนการศึกษา และเพิ่มเงินค่าตอบแทนให้

3.    เพิ่มบทบาทในการมีส่วนร่วมของผู้ปกครองและครอบครัว  ให้เสรีในการเลือกโรงเรียนและเสนอให้ผู้ปกครองออมทรัพย์เพื่อเป็นทุนในการศึกษาของลูก

4.    ในประเทศต่าง ๆ ที่มีการจัดการศึกษาแบบให้เปล่าในระดับประถมและมัธยมนั้น ยังได้ย้ำถึงการจัดการศึกษาให้แก่ผู้มีความบกพร่องและด้อยโอกาสในสังคมเอาไว้ด้วย

5.    แม้ว่าในหลายประเทศได้มีการกระจายอำนาจและหน้าที่ในการจัดการศึกษาภาคบังคับ(ประถมศึกษาและมัธยมศึกษา) ไปให้แก่หน่วยงานท้องถิ่นแล้วก็ตาม แต่รัฐบาลกลางก็ยังมีส่วนสำคัญในการกำหนดแนวนโยบายในเรื่องที่เกี่ยวกับมาตรฐานการศึกษา

6.    พรรคการเมืองมีบทบาทในนโยบายระดับอุดมศึกษา โดยการจัดงบประมาณในรูปแบบของเงินทุน เงินอุดหนุนให้แก่สถาบันและผู้เรียน และยังสามารถลดหย่อนภาษีส่วนบุคคลแลการะองค์กร

7.    ในเรื่องของบริหารจัดการ พรรคการเมืองอาจจะให้การสนับสนุนโดยประกาศหรือกำหนดนโยบายให้สถาบันการศึกษามีเสีภาพในการปกครองตนเองได้

8.    นโยบายการจัดการศึกษาสายวิชาชีพหรืออาชีวศึกษา มีความสำคัญไม่แพ้ระดับอุดมศึกษา รวมทั้งการฝึกอบรมระหว่างการประกอบวิชาชีพ เพื่อยกระดับและมาตรฐานฝีมือแรงงาน พรรคการเมืองจะมีบทบาทในการกำหนดนโยบายแนวทางที่มีความสัมพันธ์กับแนวทางการพัฒนาเศรษฐกิจ และสามารถกำหนดแนวทางให้เอกชนเข้ามามีส่วนร่วม โดยการจัดสรรเงินทุนช่วยเหลือ

9.    พรรคการเมืองสามารถกำหนด หรือวางแนวทาง หรือวางโครงการพิเศษต่าง ๆในเรื่องการศึกษา ไม่ว่าเพื่อการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น หรือเพื่อวางแนวทางให้มีการจัดการที่ดีขึ้น

10.    บางครั้งนโยบายเรื่องใดเรื่องหนึ่งอาจไม่ถูกใจคนทุกคนเสมอไป เพราะมีทั้งผู้ที่ได้รับผลประโยชน์ และผู้ที่เสียประโยชน์จากนโยบายนั้น ซึ่งพรรคการเมืองจึงต้องมีจุดยึและยืนยันในหลักการ เพื่อการพัฒนามาตรฐานของครูและสถานศึกษาให้สูงขึ้น