Saturday, September 10, 2011

โตไปแล้วไม่โกง คำตอบจากฮ่องกง


โตไปแล้วไม่โกง คำตอบจากฮ่องกง
เกียรติอนันต์ ล้วนแก้ว กรุงเทพธุรกิจ วันศุกร์ที่ 30 กรกฎาคม พ.ศ. 2553

ทฤษฎีเศรษฐศาสตร์เชื่อว่า คนเราตัดสินใจโดยการเปรียบเทียบผลประโยชน์ที่ได้กับต้นทุนที่เกิดจากการเลือก เมื่อนักเศรษฐศาสตร์นำเอาแนวคิดนี้มาประยุกต์ใช้กับการแก้ปัญหาคอร์รัปชัน ข้อเสนอสูตรสำเร็จที่ออกมา คือ ต้องเพิ่มเงินเดือนให้กับข้าราชการ และนักการเมือง ควบคู่ไปกับการกำหนดบทลงโทษที่รุนแรง มีการบังคับใช้ที่เข้มงวด ไม่เลือกหน้าอินทร์หน้าพรหม

แม้ว่าข้อเสนอนี้ มีความสมเหตุสมผลเป็นอย่างยิ่ง แต่ในทางปฏิบัติแล้ว แทบจะเป็นไปไม่ได้เลย เพราะหากปัญหาคอร์รัปชันเป็นเรื่องใหญ่ของประเทศ นั่นก็แสดงว่า คนใหญ่คนโตของประเทศเองก็ต้องมีเอี่ยวด้วยไม่มากก็น้อย แล้วจะหวังให้คนเหล่านี้จริงจังกับการปราบคอร์รัปชันได้อย่างไร

นักเศรษฐศาสตร์ชาวสเปนสองท่านชื่อว่า Esther Hauk Maria และ Saez-Marti ได้พัฒนาแบบจำลอง โดยใช้ฮ่องกงเป็นกรณีศึกษา เพื่อแสดงให้เห็นว่า แม้แต่ประเทศที่คนใหญ่คนโตโกงกินกัน ก็ยังมีโอกาสที่จะหลุดพ้นจากวังวันแห่งความสิ้นหวังนี้ได้ หากสภาพทางวัฒนธรรมเป็นใจ

แบบจำลองที่พัฒนาขึ้นมา ใช้ข้อมูลสถิติที่เกี่ยวข้องกับการคอร์รัปชันของฮ่องกงอดีต เพื่อวิเคราะห์ว่าเหตุใดการฮ่องกงถึงได้ประสบความสำเร็จมากขนาดนี้ การศึกษาของเขาได้ข้อสรุปเป็น 2 ข้อ ดังนี้

ข้อแรก การเพิ่มต้นทุนในการคอร์รัปชันด้วยการเพิ่มบทลงโทษให้รุนแรงขึ้นควบคู่ไปกับการพัฒนาระบบการจัดเก็บข้อมูลกิจกรรมของภาครัฐและการตรวจสอบการทำงานของข้าราชการและนักการเมืองอย่างเข้มข้นมีผลทำให้การคอร์รัปชันลดลงได้

ข้อที่สอง การจะปราบปรามคอร์รัปชันให้ได้ผลเต็มเม็ดเต็มหน่วยจะต้องให้ทำควบคู่ไปกับการให้การศึกษาอย่างต่อเนื่องยาวนาน เพื่อสร้างวัฒนธรรมใหม่ที่ต่อต้านการคอร์รัปชันเข้าไปแทนที่วัฒนธรรมเดิมๆ ซึ่งเพิกเฉยต่อปัญหานี้

แทนที่จะยกเอาแบบจำลองของเขามาอธิบาย เราจะมาดูกันว่า ในทางปฏิบัติแล้ว ฮ่องกงเขาปราบคอร์รัปชันสำเร็จได้อย่างไร

ในปี 2517 ฮ่องกงได้จัดตั้งคณะกรรมการอิสระเพื่อการต่อต้านคอร์รัปชัน (Independent Commission Against Corruption หรือ ICAC) ตอนนั้นก็ไม่ค่อยมีใครตั้งความหวังกับ ICAC สักเท่าไร คิดว่าสุดท้ายคงไม่แคล้วลงเอยเหมือนกับความพยายามหลายครั้งก่อนหน้านี้

แต่แล้ว ICAC ก็ได้สร้างความประหลาดใจให้กับชาวฮ่องกงและชาวโลกที่สนใจติดตามการทำงานของพวกเขา การคอร์รัปชันของฮ่องกงค่อยๆ ลดลงอย่างต่อเนื่อง ถึงแม้จะไม่สามารถสยบปัญหานี้อย่างราบคาบ แต่เกาะฮ่องกงก็สะอาดและสูงขึ้นเป็นกอง

ความสำเร็จของ ICAC เกิดจากการใช้มาตรการทางกฎหมายควบคู่ไปกับการสร้างชุดคุณค่าใหม่ให้แก่สังคม เพราะทีมงานเชื่อว่า “ทัศนคติ” ของประชาชนเกี่ยวกับการคอร์รัปชันมีความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าวิธีการแก้ปัญหา

ความล้มเหลวในอดีต เกิดจากการให้น้ำหนักกับการออกตัวบทกฎหมายซึ่งมีบทลงโทษรุนแรง แต่ไม่สามารถบังคับได้จริง ช่วงแรกๆ ก็ประสบความสำเร็จดี แต่พอผ่านไปสักพักหนึ่ง เมื่อคนเลิกสนใจติดตาม ปัญหาก็กลับมาอีก

สาเหตุที่ประชาชนไม่ได้ให้ความสำคัญกับปัญหาการคอร์รัปชันก็เพราะพวกเขาเติบโตมาในสังคมซึ่งแวดล้อมไปด้วยปัญหาการคอร์รัปชันจนกลายเป็นเรื่องปกติ ผลการสำรวจทัศนคติของคนวัยทำงานในปี 2520 พบว่า คนฮ่องกงกว่าครึ่งของกลุ่มตัวอย่างเห็นว่าคอร์รัปชันเป็นเรื่องปกติไม่ใช่ปัญหาที่ต้องได้รับการแก้ไข ประมาณหนึ่งในสามของกลุ่มตัวอย่างเห็นว่าการจ่ายเงินใต้โต๊ะให้ข้าราชการและนักการเมืองเพื่อให้งานของตนลุล่วงไปได้ไม่ใช่เรื่องผิด หากทำแล้วงานของเขาสามารถสำเร็จลุล่วงไปได้ก็จะทำอย่างแน่นอน

กลยุทธ์ของ ICAC แบ่งออกเป็นสองส่วน คือ “ปราบปราม” และ “เปลี่ยนแปลง” การปราบปรามเป็นกลยุทธ์ระยะสั้นเพื่อป้องกันไม่ให้ปัญหาคอร์รัปชันในช่วงนั้นลุกลามใหญ่โตไปกว่าเดิม การเปลี่ยนแปลงเป็นกลยุทธ์ระยะยาวเพื่อป้องกันไม่ให้การคอร์รัปชันกลับเป็นปัญหารุนแรงอีกในอนาคต

ICAC รู้ดีว่า การเปลี่ยนแปลงทัศนคติของคนรุ่นปัจจุบันซึ่งเติบโตมาในสภาพแวดล้อมที่ส่งเสริมให้มีการคอร์รัปชันนั้นแทบจะเป็นไปไม่ได้เลย ICAC จึงเลือกให้การศึกษาและอบรมเยาวชนรุ่นใหม่ตั้งแต่พวกเขาเริ่มต้นเรียนหนังสือให้รู้ว่าปัญหาการคอร์รัปชันว่าจะมีผลต่อตัวเขา ครอบครัว คนรอบข้าง และสังคมโดยรวมอย่างไร

วิธีการสอนก็ไม่ได้ให้น้ำหนักกับการบังคับนักเรียนท่องจำข้อเสียแล้วเอาไปตอบข้อสอบตอนปลายภาค กิจกรรมการศึกษาสารพัดรูปแบบได้ถูกซ้ำแล้วซ้ำเล่าเป็นเวลานานถึง 13 ปีใช้เพื่อเป้าหมายเพียงอย่างเดียวคือหล่อหลอมเยาวชนรุ่นใหม่เกิดความรู้สึกรังเกียจชิงชังต่อการคอร์รัปชัน

งานนี้ต้องใช้ความอดทนและพยายามเป็นอย่างสูงเพราะทีมงานต้องต่อสู้กับครอบครัวของเด็กๆ และสังคมรอบข้างซึ่งมีแต่จะตอกย้ำให้เด็กเห็นว่าการคอร์รัปชันไม่ใช่เรื่องเสียหายอะไร แต่ทีมงานก็ไม่ย่อท้อ เพราะพวกเขารู้ว่าในระยะยาว เด็กรุ่นใหม่พวกนี้แหละที่จะเข้าไปแทนที่คนรุ่นเก่า กลายเป็นตัวอย่างของเยาวชนรุ่นหลังอีกนับไม่ถ้วน เมื่อพวกเขากลายเป็นพ่อแม่คน เขาก็จะอบรมสั่งสอนสิ่งที่ได้รับการถ่ายทอดให้กับลูกหลาน เมื่อเขามีหน้าที่การงาน เขาก็จะเป็นผู้เข้าไปเปลี่ยนแปลงวัฒนธรรมขององค์กร หากเขาไปเล่นการเมือง พวกเขาก็จะมีภูมิต้านทานไม่ตกเป็นเหยื่อของการคอร์รัปชันได้โดยง่ายเหมือนคนรุ่นก่อน

ในปี 2529 ได้มีการสำรวจทัศนคติของคนรุ่นต่างๆ พบว่า เด็กรุ่นใหม่อายุ 15-24 ปี กว่าร้อยละเจ็ดสิบห้าเห็นว่าปัญหาการคอร์รัปชันคือปัญหารุนแรงของสังคม ในปี 2542 ร้อยละแปดสิบของเด็กในกลุ่มอายุเดียวกันนี้เห็นด้วยกับการกำจัดปัญหาคอร์รัปชันให้หมดไปจากเกาะฮ่องกง

เดี๋ยวนี้ ฮ่องกงกลายเป็นสถานที่ที่คอร์รัปชันแทบจะสูญพันธุ์ไปแล้ว ความสำเร็จของ ICAC ได้กลายเป็นตัวอย่างให้แก่หน่วยงานต่อต้านการคอร์รัปชันของหลายประเทศ และกลายเป็นกรณีศึกษาในชั้นเรียนวิชาการปราบปรามคอร์รัปชันทั่วโลก

บทเรียนของฮ่องกง น่าจะเป็นความหวังให้แก่เราได้ว่า หากตั้งใจจริง และช่วยกันทำอย่างต่อเนื่อง โครงการ “โตไปไม่โกง” ของเราก็มีสิทธิสำเร็จได้เหมือนกัน

No comments: