Friday, October 22, 2010

เจาะลึกค่าแรงขั้นต่ำ

เมื่อเร็วๆ นี้ คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.)ออกมาแสดงความเห็นด้วยกับแนวคิดนายกรัฐมนตรี ที่ต้องการปรับค่าแรงขั้นต่ำขึ้นเป็น 250 บาทต่อวัน อัตราเดียวกันทั่วประเทศ ซึ่งทำให้เรื่องนี้กลายเป็นประเด็นในการถกเถียงอย่างกว้างขวางในสื่อต่างๆ ขึ้นมาอีกครั้งหนึ่ง โดยแรงงานส่วนใหญ่แสดงความเห็นด้วยกับการขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ เนื่องจากตนเองได้รับประโยชน์ ขณะที่นักวิชาการและนักธุรกิจส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วย เนื่องจากเห็นว่ามีผลกระทบต่อธุรกิจและเศรษฐกิจของประเทศมากกว่า ซึ่งเป็นอาการที่คาดเดาได้แทบจะทุกครั้งที่มีการประกาศขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ สำหรับการโยนหินถามทางของนายกรัฐมนตรีครั้งนี้
มีประเด็นที่ผมคิดว่าน่าสนใจที่จะหยิบยกขึ้นมาพูดคุยกันดังนี้
ควรขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำเป็น 250 บาทหรือไม่?
ใน ความเห็นส่วนตัว ผมค่อนข้างเห็นด้วยกับการขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ เพื่อให้แรงงานมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น เนื่องจากปัจจุบัน แรงงานที่ได้รับค่าแรงขั้นต่ำยังมีภาวะความเป็นอยู่ที่ยากลำบาก โดยแรงงานไร้ฝีมือในเขตกรุงเทพฯและปริมณฑล 6 จังหวัดได้รับค่าจ้างขั้นต่ำอยู่ที่ 206 บาทต่อวัน ในขณะที่จังหวัดอื่นได้รับค่าจ้างลดหลั่นกันลงไป ถึงกระนั้น การขึ้นค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำมีปัจจัยและเงื่อนไขที่ต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การพิจารณาด้วยหลักการทางเศรษฐศาสตร์ กล่าวคือ แรงงานควรได้รับค่าจ้างเท่ากับผลผลิตส่วนเพิ่มที่แรงงานผลิตได้ (หรือผลิตภาพของแรงงาน) หรือหมายความว่า แรงงานควรได้รับค่าจ้างเพิ่มขึ้น หากสามารถผลิตได้เพิ่มขึ้น

Professor Kriengsak Chareonwongsak

credit by http://www.oknation.net/blog/kriengsak/2010/10/19/entry-2

Thursday, October 21, 2010

professor kriengsak chareonwongsak

งบประมาณปี 2549 กับสามลักษณะเด่น

ดร.เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์  รองประธานกรรมาธิการ การพัฒนาเศรษฐกิจ สภาผู้แทนราษฎร กรรมการบริหาร และ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์  กรุงเทพธุรกิจ วันจันทร์ที่ 4 กรกฎาคม พ.ศ. 2548

การจัดทำร่างพระราชบัญญัติ งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2549 กำหนดวงเงิน 1.36 ล้านล้านบาท และเป็นนโยบายงบประมาณ แบบสมดุลต่อเนื่องจากปีงบประมาณ 2548

แต่กระนั้นการจัดสรรงบประมาณปี 49 เป็นงบเสี่ยง ซึ่งอาจส่งผลกระทบรุนแรงต่อระบบเศรษฐกิจ และความเป็นอยู่ของประชาชน ดังนี้

1.งบนักฝัน เนื่องจากการที่รัฐบาลมีความเสี่ยงจะจัดเก็บรายได้ไม่ถึงเป้าตามที่ฝัน ด้วยเหตุผล 2 ประการ คือ ประการแรก การขยายตัวทางเศรษฐกิจปี 2548 จะขยายตัวไม่ถึง 4.5-5.5% ตามในเอกสารงบประมาณโดยสังเขป แต่จากการวิเคราะห์พบว่า เศรษฐกิจไทยอาจขยายตัวเพียง 4% เนื่องจากสมมติฐานในการจัดทำงบประมาณปี 2549 ไม่สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน

สมมติฐานแรก ราคาน้ำมันดิบดูไบเฉลี่ยตลอดปี 2548 อยู่ที่ 44 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ซึ่งไม่ตรงกับความจริง เพราะราคาน้ำมันดูไบเฉลี่ย 5 เดือนแรกอยู่ที่ 43.2 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล และปัจจุบันอยู่ที่ระดับ 50-55 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลแล้ว ในขณะที่ครึ่งปีหลังความต้องการใช้น้ำมันมากขึ้น ทำให้ราคาน้ำมันในช่วงปลายปีจะสูงสุดในรอบปี ราคาน้ำมันดูไบเฉลี่ยทั้งปีจึงน่าจะสูงกว่า 50 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล

สมมติฐานที่สอง การส่งออกขยายตัว 18% เป็นไปได้ยาก เพราะ 4 เดือนแรกของปี 2548 มูลค่าการส่งออกเบื้องต้นขยายตัวเพียง 10.9% หากจะผลักดันการส่งออกตลอดปีนี้ให้ขยายตัว 18% การส่งออกในอีก 8 เดือนที่เหลือจะต้องเพิ่มขึ้นถึง 27.8% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน

สมมติฐานที่สาม นักท่องเที่ยวปี 2548 จะเพิ่มขึ้นเป็น 12.57 ล้านคน นับว่าเป็นไปได้ยาก เพราะนักท่องเที่ยวเข้าไทยใน 2 ไตรมาสแรก คาดว่ามีเพียง 5.29 ล้านคน

สองไตรมาสสุดท้ายของปี 2548 จะต้องมีนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นถึง 18.6% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งเป็นอัตราที่สูงมากเมื่อเทียบกับการขยายตัวของนักท่องเที่ยวในครึ่งหลังของปี 2547 และ 2546 ที่ขยายตัวเพียง 7.5% และ 4.2% ตามลำดับ

สมมติฐานสุดท้าย การเร่งเบิกจ่ายงบเพิ่มเติมปี 2548 และงบปี 2546-2547 ที่ยังค้างอยู่ไม่น้อยกว่า 80% เป็นไปได้ค่อนข้างยาก เพราะงบส่วนใหญ่เป็นงบลงทุน และการเบิกจ่ายงบลงทุนในปีงบประมาณ 2548 ณ ปัจจุบัน มีการเบิกจ่ายเพียง 48.9% เท่านั้น ทั้งๆ ที่ผ่านมาแล้วเก้าเดือน

ประการที่สอง สัดส่วนรายรับรัฐบาลต่อ GDP จะลดลงจาก 17.3% เหลือเพียง 17% เนื่องจากการจัดเก็บรายได้ของปี 2549 จะได้รับผลกระทบจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจในปี 2548 โดยเฉพาะภาษีที่จัดเก็บจากธุรกิจและประชาชนในปี 2549 จะคิดจากผลกำไรของธุรกิจและรายได้ของประชาชนในปี 2548

ดังนั้นหากเศรษฐกิจปีนี้ขยายตัว 4% และปีหน้าขยายตัว 6% สัดส่วนการจัดเก็บรายได้ของปีงบประมาณ 2549 อยู่ที่ 17% ต่อจีดีพี การจัดเก็บรายได้จะต่ำกว่าเป้าหมาย 1.36 ล้านล้านบาท ถึง 9.29 หมื่นล้านบาท ซึ่งหมายความว่าประชาชนจะต้องแบกรับภาระการเรียกเก็บภาษีมากขึ้น

2.งบนักซ่อน การจัดทำงบประมาณปี 2549 ในภาวะที่เศรษฐกิจชะลอตัว แต่รัฐบาลมีความต้องการใช้เงินลงทุนจำนวนมาก และต้องการจัดงบประมาณแบบสมดุล นำพาความเสี่ยงในการก่อหนี้สาธารณะ และภาระผูกพันมากขึ้น เพราะรัฐบาลพัฒนาวิธีการซ่อนหนี้ และภาระผูกพันมากขึ้น

การให้ธนาคารรัฐปล่อยกู้ตามนโยบายรัฐ การแปรรูปรัฐวิสาหกิจเพื่อโยกหนี้รัฐวิสาหกิจออกจากบัญชีหนี้สาธารณะ การจัดตั้ง SPV เพื่อกู้เงินจากเอกชน โดยไม่ปรากฏเป็นหนี้สาธารณะ รวมทั้งการก่อสร้างโครงการขนาดใหญ่ที่ไม่คุ้มค่า ทำให้รัฐต้องอุดหนุนในระยะยาว ซึ่งการระดมทุนด้วยวิธีการเหล่านี้จะเป็นภาระต่องบประมาณในอนาคตรวมกันอย่างน้อย 546,944 ล้านบาท และอาจกลายเป็นหนี้สาธารณะจำนวนมากในอนาคต หากเศรษฐกิจถดถอย

3.งบ Turn Key ในเอกสารงบประมาณระบุถึง งบประมาณของโครงการลงทุนขนาดใหญ่ 9.46 หมื่นล้านบาท โดยหลายโครงการจะเริ่มต้นก่อสร้างในปีงบประมาณ 2549

การที่รัฐบาลต้องการเร่งผลักดังโครงการโดยที่ยังไม่มีแผนระดมทุนชัดเจน โดยที่ยังไม่มีการศึกษาและออกแบบโครงการ จึงมีความเป็นไปได้สูงที่รัฐบาลจะนำการจัดซื้อจัดจ้างด้วยวิธีการเหมาแบบเบ็ดเสร็จ หรือ Turn Key มาใช้ เพราะวิธีนี้มีข้อดี คือ การก่อสร้างได้เร็ว เพราะใช้วิธีออกแบบไปพร้อมกับการก่อสร้าง และผู้รับเหมาจะเป็นผู้รับผิดชอบในการระดมทุนเอง

แต่ข้อเสียของวิธีการนี้ คือ การออกแบบไปพร้อมๆ กับการก่อสร้าง จะทำให้การควบคุมและตรวจสอบงานทำได้ยาก และจะมีผู้รับเหมาน้อยรายที่จะมีคุณสมบัติตามข้อกำหนดให้มีสิทธิเข้าแข่งขันในการประกวดราคา และอาจเกิดการรวบรัดขั้นตอนดำเนินงาน
บทความ ของ ศาสตราจารย์ ดร. เกรียงศักดิ์ เจริญวงศักดิ์ (Profressor Kriengsak Chareonwongsak, Senior Fellow at Harvard University's Center of Business and Government and an Associate) credit by www.kriengsak.com