Sunday, December 7, 2008

ไทยได้อะไรจากการเปิด FTA กับนิวซีแลนด์

ไทยได้อะไรจากการเปิด FTA กับนิวซีแลนด์

ดร.เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์  กรุงเทพธุรกิจ วันที่ 09 มิถุนายน พ.ศ. 2548

นิวซีแลนด์เป็นหนึ่งในประเทศคู่เจรจาเขตการค้าเสรี (FTA) ของไทย ซึ่งเมื่อวันที่ 19 เม.ย.2548 นายกรัฐมนตรี พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร และนางเฮเลน คลาร์ก นายกรัฐมนตรีนิวซีแลนด์ ได้ร่วมลงนามในข้อตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจไทย-นิวซีแลนด์ จะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 ก.ค.นี้

โดยข้อตกลงครอบคลุม 3 ด้านหลัก ได้แก่ 1.เปิดเสรีการค้าด้านสินค้า 2.เปิดเสรีการค้าบริการและลงทุน และ 3.ความร่วมมือด้านการค้า

การจัดทำเขตการค้าเสรีไทย-นิวซีแลนด์ ทำให้ได้รับประโยชน์ด้านการลดภาษีนำเข้า ยังช่วยให้เกิดแรงผลักดันในการยกมาตรฐานด้านสุขอนามัยของสินค้าส่งออกของไทยไปสู่นิวซีแลนด์มากขึ้น และไทยยังอาจได้รับประโยชน์จากความร่วมมือพัฒนาด้านปศุสัตว์ ซึ่งเป็นสาขาที่นิวซีแลนด์มีศักยภาพทางการผลิต ทั้งยังเป็นโอกาสร่วมลงทุนเพื่อส่งออกไปยังประเทศที่ 3

แต่ผลกระทบตรงข้าม ทำให้ไทยต้องเปิดตลาดสินค้าเกษตรบางรายการ ซึ่งนิวซีแลนด์มีศักยภาพในการผลิตสูง และเป็นรายการที่อ่อนไหวของไทย โดยเฉพาะเนื้อวัว นม และผลิตภัณฑ์นม ทำให้เกษตรกรผู้เลี้ยงโคและโคนมต้องเผชิญการแข่งขันกับคู่แข่งที่มีศักยภาพสูง ซึ่งในอนาคตไทยต้องแข่งขันกับออสเตรเลีย

ประโยชน์ที่จะได้รับจากการจัดทำเขตการค้าเสรีไทย-นิวซีแลนด์โดยเปรียบเทียบ ไทยอาจจะได้รับไม่มากนัก และน้อยกว่าประโยชน์ที่นิวซีแลนด์จะได้รับจากไทย ดังนี้

ขนาดการค้าและลงทุนระหว่างไทยและนิวซีแลนด์มีมูลค่าไม่มาก ข้อมูลการค้าระหว่างประเทศ พบว่า มูลค่าการค้าไทยกับนิวซีแลนด์ในปี 2547 มีระดับต่ำมาก โดยส่งออกจากไทยไปนิวซีแลนด์มีมูลค่า 0.34% ของส่งออกรวมของไทย และนำเข้าจากนิวซีแลนด์มีมูลค่า 0.25% ของนำเข้ารวม ในขณะที่ส่งออกจากนิวซีแลนด์มายังไทยมีมูลค่า 1.26% ของส่งออกรวม และนำเข้าจากไทยมีมูลค่า 1.59% ของนำเข้ารวม

ในการลงทุนระหว่างประเทศ ตามข้อมูลของบีโอไอ นิวซีแลนด์ลงทุนในไทยเป็นลำดับที่ 43 ตั้งแต่ 2538-2546 มีมูลค่า 25.5 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือ 0.03% ของมูลค่าลงทุนจากต่างประเทศในไทย โดยเป็นการลงทุนในไทยมากที่สุดปี 2542 มูลค่า 8.3 ล้านเหรียญ ซึ่งลงทุนในธุรกิจเฟอร์นิเจอร์และธุรกิจเกี่ยวกับพิพิธภัณฑ์สัตว์น้ำ

ไทยมีประชากร 65 ล้านคน มากกว่านิวซีแลนด์ที่มีประชากร 4 ล้านคน เมื่อพิจารณาในแง่ของประชากร การเปิดเสรีการค้ากับประเทศที่มีประชากรน้อยกว่า เช่น นิวซีแลนด์ จะทำให้ไทยได้รับประโยชน์จากการขยายตลาดส่งออกน้อยกว่า ส่วนนิวซีแลนด์จะได้รับประโยชน์จากไทย ซึ่งเป็นตลาดที่ใหญ่กว่า

ไทยต้องลดอัตราภาษีโดยเฉลี่ยมากกว่าที่นิวซีแลนด์ลดภาษีให้ ข้อมูลในปี 2542 ก่อนเจรจาเขตการค้าเสรีไทยกับนิวซีแลนด์ ระบุว่า ไทยเก็บภาษีนำเข้าสินค้าจากนิวซีแลนด์เฉลี่ย 8.88% โดยสินค้าที่จัดเก็บภาษีนำเข้าในอัตราสูง ได้แก่ ธัญพืช ผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์ ผลิตภัณฑ์ปศุสัตว์ พืชไร่ ผัก ผลไม้และเมล็ดถั่ว ผลิตภัณฑ์อาหาร และสิ่งทอ ขณะที่นิวซีแลนด์เก็บภาษีนำเข้าสินค้าจากไทยเฉลี่ย 3.22% โดยภาคการผลิตที่จัดเก็บภาษีในอัตราสูง ได้แก่ ผลิตภัณฑ์จากหนัง เครื่องแต่งกาย ผลิตภัณฑ์โลหะ และผลิตภัณฑ์จากไม้

แม้ว่าข้อตกลงเขตการค้าเสรีมีผลบังคับใช้แล้ว อัตราภาษีนำเข้าสินค้าจะเป็น 0% ซึ่งจะทำให้ผู้ส่งออกไทยได้ประโยชน์จากการส่งออกสินค้าบางรายการ เช่น ผลิตภัณฑ์จากหนัง เครื่องแต่งกาย แต่ผลประโยชน์ที่จะได้รับโดยรวมไม่มากนักเมื่อเปรียบเทียบกับผู้ส่งออกของนิวซีแลนด์จะได้รับการยกเว้นภาษีนำเข้าจากไทย เพราะนิวซีแลนด์เป็นตลาดขนาดเล็ก

ประเทศไทยต้องลดภาษีในสัดส่วนที่มากกว่านิวซีแลนด์ โดยเฉพาะในสินค้าธัญพืช ผลิตภัณฑ์นม อาหาร และอุปกรณ์โทรคมนาคม

ไทยมีอัตรากีดกันทางการค้าที่ไม่ใช่ภาษีเฉลี่ยมากกว่านิวซีแลนด์ ในปี 2537 เฉลี่ย 37.13% โดยภาคการผลิตที่มีอัตรากีดกันทางการค้าที่ไม่ใช่ภาษีในระดับสูง ได้แก่ ธัญพืช ผัก ผลไม้และเมล็ดถั่ว พืชไร่อื่น ผลิตภัณฑ์ปศุสัตว์ ผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์ ผลิตภัณฑ์อาหาร และผลิตภัณฑ์จากไม้

ขณะที่นิวซีแลนด์มีอัตรากีดกันทางการค้าที่ไม่ใช่ภาษีกับสินค้านำเข้าจากไทยเฉลี่ย 1.72% โดยภาคการผลิตที่มีอัตรากีดกันทางการค้าที่ไม่ใช่ภาษีในระดับสูง ได้แก่ ผลิตภัณฑ์จากหนัง ผลิตภัณฑ์จากแร่ธาตุ และเครื่องจักรอุปกรณ์

และทำให้เกิดการปรับลดอัตรากีดกันทางการค้าที่ไม่ใช่ภาษีระหว่างกันด้วย ส่งผลให้ภาคการผลิตของไทยที่ได้รับผลประโยชน์จากส่งออกเพิ่มขึ้น เช่น ผลิตภัณฑ์จากหนัง ส่วนภาคการผลิตของไทยที่ได้รับผลกระทบด้านลบ ได้แก่ ผลิตภัณฑ์นม ผักผลไม้และเมล็ดถั่ว ผลิตภัณฑ์ปศุสัตว์ น้ำมันและไขมันจากพืช และผลิตภัณฑ์จากไม้

ข้อเสนอแนะ ไทยจึงไม่ควรเปิดเสรีอย่างสมบูรณ์ในสินค้าทุกชนิดทันที ควรเลือกเปิดเสรีในสินค้าบางชนิดก่อน และควรกำหนดเงื่อนไขการเปิดเสรี โดยเฉพาะเงื่อนไขระยะเวลาลดอัตราภาษี เพื่อการเตรียมพร้อมของผู้ผลิตในประเทศ และลดความได้เปรียบเสียเปรียบของผู้ผลิตทั้งสองประเทศ

การจัดทำเขตการค้าเสรีที่มุ่งเน้นเฉพาะเรื่องการค้าและลงทุน อาจทำให้ไทยไม่ได้ประโยชน์สูงสุด รัฐบาลควรให้ความสำคัญกับความร่วมมือด้านอื่นด้วย ซึ่งประเด็นที่ไทยควรร่วมมือกับนิวซีแลนด์ และจะเป็นประโยชน์มาก คือ ความร่วมมือในด้านสิ่งแวดล้อม เนื่องจากนิวซีแลนด์เป็นประเทศที่ให้ความสำคัญด้านสิ่งแวดล้อมเป็นอันดับต้น โดยมีพระราชบัญญัติการจัดการทรัพยากร เริ่มบังคับใช้ในปี 2534 ซึ่งนับว่าเป็นกฎหมายฉบับแรกของโลกที่จัดการปัญหาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

การที่ไทยสร้างความร่วมมือกับนิวซีแลนด์ในธุรกิจด้านสิ่งแวดล้อม จะเป็นผลดีต่อไทยที่สามารถอาศัยความรู้ วิทยาการจัดการสิ่งแวดล้อมของนิวซีแลนด์ เพื่อแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมของไทยได้มีประสิทธิภาพ
บทความ ของ ศาสตราจารย์ ดร. เกรียงศักดิ์ เจริญวงศักดิ์ (Profressor Kriengsak Chareonwongsak, Senior Fellow at Harvard University's Center of Business and Government and an Associate) credit by www.kriengsak.com