ไทยได้อะไรจากการเปิด FTA กับนิวซีแลนด์
ดร.เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์ กรุงเทพธุรกิจ วันที่ 09 มิถุนายน พ.ศ. 2548
นิวซีแลนด์เป็นหนึ่งในประเทศคู่เจรจาเขตการค้าเสรี (FTA) ของไทย ซึ่งเมื่อวันที่ 19 เม.ย.2548 นายกรัฐมนตรี พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร และนางเฮเลน คลาร์ก นายกรัฐมนตรีนิวซีแลนด์ ได้ร่วมลงนามในข้อตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจไทย-นิวซีแลนด์ จะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 ก.ค.นี้
โดยข้อตกลงครอบคลุม 3 ด้านหลัก ได้แก่ 1.เปิดเสรีการค้าด้านสินค้า 2.เปิดเสรีการค้าบริการและลงทุน และ 3.ความร่วมมือด้านการค้า
การจัดทำเขตการค้าเสรีไทย-นิวซีแลนด์ ทำให้ได้รับประโยชน์ด้านการลดภาษีนำเข้า ยังช่วยให้เกิดแรงผลักดันในการยกมาตรฐานด้านสุขอนามัยของสินค้าส่งออกของไทยไปสู่นิวซีแลนด์มากขึ้น และไทยยังอาจได้รับประโยชน์จากความร่วมมือพัฒนาด้านปศุสัตว์ ซึ่งเป็นสาขาที่นิวซีแลนด์มีศักยภาพทางการผลิต ทั้งยังเป็นโอกาสร่วมลงทุนเพื่อส่งออกไปยังประเทศที่ 3
แต่ผลกระทบตรงข้าม ทำให้ไทยต้องเปิดตลาดสินค้าเกษตรบางรายการ ซึ่งนิวซีแลนด์มีศักยภาพในการผลิตสูง และเป็นรายการที่อ่อนไหวของไทย โดยเฉพาะเนื้อวัว นม และผลิตภัณฑ์นม ทำให้เกษตรกรผู้เลี้ยงโคและโคนมต้องเผชิญการแข่งขันกับคู่แข่งที่มีศักยภาพสูง ซึ่งในอนาคตไทยต้องแข่งขันกับออสเตรเลีย
ประโยชน์ที่จะได้รับจากการจัดทำเขตการค้าเสรีไทย-นิวซีแลนด์โดยเปรียบเทียบ ไทยอาจจะได้รับไม่มากนัก และน้อยกว่าประโยชน์ที่นิวซีแลนด์จะได้รับจากไทย ดังนี้
ขนาดการค้าและลงทุนระหว่างไทยและนิวซีแลนด์มีมูลค่าไม่มาก ข้อมูลการค้าระหว่างประเทศ พบว่า มูลค่าการค้าไทยกับนิวซีแลนด์ในปี 2547 มีระดับต่ำมาก โดยส่งออกจากไทยไปนิวซีแลนด์มีมูลค่า 0.34% ของส่งออกรวมของไทย และนำเข้าจากนิวซีแลนด์มีมูลค่า 0.25% ของนำเข้ารวม ในขณะที่ส่งออกจากนิวซีแลนด์มายังไทยมีมูลค่า 1.26% ของส่งออกรวม และนำเข้าจากไทยมีมูลค่า 1.59% ของนำเข้ารวม
ในการลงทุนระหว่างประเทศ ตามข้อมูลของบีโอไอ นิวซีแลนด์ลงทุนในไทยเป็นลำดับที่ 43 ตั้งแต่ 2538-2546 มีมูลค่า 25.5 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือ 0.03% ของมูลค่าลงทุนจากต่างประเทศในไทย โดยเป็นการลงทุนในไทยมากที่สุดปี 2542 มูลค่า 8.3 ล้านเหรียญ ซึ่งลงทุนในธุรกิจเฟอร์นิเจอร์และธุรกิจเกี่ยวกับพิพิธภัณฑ์สัตว์น้ำ
ไทยมีประชากร 65 ล้านคน มากกว่านิวซีแลนด์ที่มีประชากร 4 ล้านคน เมื่อพิจารณาในแง่ของประชากร การเปิดเสรีการค้ากับประเทศที่มีประชากรน้อยกว่า เช่น นิวซีแลนด์ จะทำให้ไทยได้รับประโยชน์จากการขยายตลาดส่งออกน้อยกว่า ส่วนนิวซีแลนด์จะได้รับประโยชน์จากไทย ซึ่งเป็นตลาดที่ใหญ่กว่า
ไทยต้องลดอัตราภาษีโดยเฉลี่ยมากกว่าที่นิวซีแลนด์ลดภาษีให้ ข้อมูลในปี 2542 ก่อนเจรจาเขตการค้าเสรีไทยกับนิวซีแลนด์ ระบุว่า ไทยเก็บภาษีนำเข้าสินค้าจากนิวซีแลนด์เฉลี่ย 8.88% โดยสินค้าที่จัดเก็บภาษีนำเข้าในอัตราสูง ได้แก่ ธัญพืช ผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์ ผลิตภัณฑ์ปศุสัตว์ พืชไร่ ผัก ผลไม้และเมล็ดถั่ว ผลิตภัณฑ์อาหาร และสิ่งทอ ขณะที่นิวซีแลนด์เก็บภาษีนำเข้าสินค้าจากไทยเฉลี่ย 3.22% โดยภาคการผลิตที่จัดเก็บภาษีในอัตราสูง ได้แก่ ผลิตภัณฑ์จากหนัง เครื่องแต่งกาย ผลิตภัณฑ์โลหะ และผลิตภัณฑ์จากไม้
แม้ว่าข้อตกลงเขตการค้าเสรีมีผลบังคับใช้แล้ว อัตราภาษีนำเข้าสินค้าจะเป็น 0% ซึ่งจะทำให้ผู้ส่งออกไทยได้ประโยชน์จากการส่งออกสินค้าบางรายการ เช่น ผลิตภัณฑ์จากหนัง เครื่องแต่งกาย แต่ผลประโยชน์ที่จะได้รับโดยรวมไม่มากนักเมื่อเปรียบเทียบกับผู้ส่งออกของนิวซีแลนด์จะได้รับการยกเว้นภาษีนำเข้าจากไทย เพราะนิวซีแลนด์เป็นตลาดขนาดเล็ก
ประเทศไทยต้องลดภาษีในสัดส่วนที่มากกว่านิวซีแลนด์ โดยเฉพาะในสินค้าธัญพืช ผลิตภัณฑ์นม อาหาร และอุปกรณ์โทรคมนาคม
ไทยมีอัตรากีดกันทางการค้าที่ไม่ใช่ภาษีเฉลี่ยมากกว่านิวซีแลนด์ ในปี 2537 เฉลี่ย 37.13% โดยภาคการผลิตที่มีอัตรากีดกันทางการค้าที่ไม่ใช่ภาษีในระดับสูง ได้แก่ ธัญพืช ผัก ผลไม้และเมล็ดถั่ว พืชไร่อื่น ผลิตภัณฑ์ปศุสัตว์ ผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์ ผลิตภัณฑ์อาหาร และผลิตภัณฑ์จากไม้
ขณะที่นิวซีแลนด์มีอัตรากีดกันทางการค้าที่ไม่ใช่ภาษีกับสินค้านำเข้าจากไทยเฉลี่ย 1.72% โดยภาคการผลิตที่มีอัตรากีดกันทางการค้าที่ไม่ใช่ภาษีในระดับสูง ได้แก่ ผลิตภัณฑ์จากหนัง ผลิตภัณฑ์จากแร่ธาตุ และเครื่องจักรอุปกรณ์
และทำให้เกิดการปรับลดอัตรากีดกันทางการค้าที่ไม่ใช่ภาษีระหว่างกันด้วย ส่งผลให้ภาคการผลิตของไทยที่ได้รับผลประโยชน์จากส่งออกเพิ่มขึ้น เช่น ผลิตภัณฑ์จากหนัง ส่วนภาคการผลิตของไทยที่ได้รับผลกระทบด้านลบ ได้แก่ ผลิตภัณฑ์นม ผักผลไม้และเมล็ดถั่ว ผลิตภัณฑ์ปศุสัตว์ น้ำมันและไขมันจากพืช และผลิตภัณฑ์จากไม้
ข้อเสนอแนะ ไทยจึงไม่ควรเปิดเสรีอย่างสมบูรณ์ในสินค้าทุกชนิดทันที ควรเลือกเปิดเสรีในสินค้าบางชนิดก่อน และควรกำหนดเงื่อนไขการเปิดเสรี โดยเฉพาะเงื่อนไขระยะเวลาลดอัตราภาษี เพื่อการเตรียมพร้อมของผู้ผลิตในประเทศ และลดความได้เปรียบเสียเปรียบของผู้ผลิตทั้งสองประเทศ
การจัดทำเขตการค้าเสรีที่มุ่งเน้นเฉพาะเรื่องการค้าและลงทุน อาจทำให้ไทยไม่ได้ประโยชน์สูงสุด รัฐบาลควรให้ความสำคัญกับความร่วมมือด้านอื่นด้วย ซึ่งประเด็นที่ไทยควรร่วมมือกับนิวซีแลนด์ และจะเป็นประโยชน์มาก คือ ความร่วมมือในด้านสิ่งแวดล้อม เนื่องจากนิวซีแลนด์เป็นประเทศที่ให้ความสำคัญด้านสิ่งแวดล้อมเป็นอันดับต้น โดยมีพระราชบัญญัติการจัดการทรัพยากร เริ่มบังคับใช้ในปี 2534 ซึ่งนับว่าเป็นกฎหมายฉบับแรกของโลกที่จัดการปัญหาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
การที่ไทยสร้างความร่วมมือกับนิวซีแลนด์ในธุรกิจด้านสิ่งแวดล้อม จะเป็นผลดีต่อไทยที่สามารถอาศัยความรู้ วิทยาการจัดการสิ่งแวดล้อมของนิวซีแลนด์ เพื่อแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมของไทยได้มีประสิทธิภาพ
บทความ ของ ศาสตราจารย์ ดร. เกรียงศักดิ์ เจริญวงศักดิ์ (Profressor Kriengsak Chareonwongsak, Senior Fellow at Harvard University's Center of Business and Government and an Associate)
credit by www.kriengsak.com
No comments:
Post a Comment