Thursday, April 10, 2008

ใครควรกำกับสถาบันการเงิน แบงก์ชาติ หรือ รัฐบาล?

ใครควรกำกับสถาบันการเงิน แบงก์ชาติ หรือ รัฐบาล?

ดร.เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์  กรุงเทพธุรกิจ  วันที่ 03 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2548

ประเด็นคำถามเรื่อง "อิสรภาพของแบงก์ชาติ" เป็นประเด็นที่สังคมให้ความสนใจมาโดยตลอด และยังเป็นข้อถกเถียงกันอยู่ว่า ธนาคารกลาง ควรมีอิสระในระดับใด เพราะแต่ละฝ่ายต่างมีจุดยืน และเหตุผลของตนเอง เมื่อไม่นานมานี้ มีข่าวดังออกมาอีกว่า รัฐบาลจะมีการเปลี่ยนแปลงตัวผู้ว่าการแบงก์ชาติ คือ ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล และเตรียมที่จะลดบทบาทของแบงก์ชาติลงด้วย

ที่ผ่านมา แบงก์ชาติทำหน้าที่กำกับดูแลสถาบันการเงิน ดูแลนโยบายการเงิน และดูแลในเรื่องของหนี้เสียทั้งระบบ ในความเห็นของผมคิดว่า ควรให้แบงก์ชาติมีอิสระในการทำหน้าที่ต่างๆ เหล่านี้ต่อไป เนื่องจากการปล่อยให้มีการแทรกแซงทางการเมือง จะเกิดผลเสียมากกว่าผลดี เช่น

ผลเสียต่อเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ หากธนาคารกลางอยู่ภายใต้การดูแลของกระทรวงการคลัง ทำให้จำเป็นต้องปฏิบัติตามคำสั่งของกระทรวงการคลัง

แต่การดำเนินนโยบายเศรษฐกิจของรัฐบาลส่วนใหญ่ มักจะคิดถึงเพียงการทำให้เศรษฐกิจขยายตัวในระยะสั้น เพื่อสร้างคะแนนนิยมแก่ตนเองให้ได้เป็นรัฐบาลอีกครั้งหนึ่ง

ในขณะที่ธนาคารกลางที่เป็นอิสระ จะมุ่งรักษาเสถียรภาพของเศรษฐกิจ เช่น ที่ผ่านมา รัฐบาลต้องการกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยอาศัยภาคอสังหาริมทรัพย์เป็นตัวนำ มาตรการที่รัฐนำมาใช้ คือ การลดหย่อนภาษีเพื่อช่วยเหลือภาคอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งได้ผลอย่างมาก เพราะทำให้การซื้อขายที่ดินทั่วประเทศสูงขึ้น แต่รัฐบาลจำเป็นต้องเลิกมาตรการดังกล่าวไป เมื่อธนาคารแห่งประเทศไทยได้ออกมาเตือนในเรื่องภาวะฟองสบู่ ที่อาจเกิดขึ้นจากการดำเนินนโยบายดังกล่าว และหากการดำเนินนโยบายการเงินการคลังขาดความโปร่งใส ก็อาจจะส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนด้วย

ยกตัวอย่าง การดำเนินการที่มีอิสระของธนาคารกลางของสหรัฐหรือเฟด ถือเป็นปัจจัยหนึ่งที่ส่งผลบวกต่อเศรษฐกิจสหรัฐ นักลงทุนต่างชาติล้วนเชื่อมั่นในการทำงานของเฟด ขณะที่นโยบายการเงินของประเทศในแถบละตินอเมริกา ปราศจากความน่าเชื่อถือ เพราะธนาคารกลางของประเทศเหล่านี้ขาดความเป็นอิสระจากรัฐอย่างแท้จริง

ด้วยเหตุนี้ หากการทำหน้าที่ของแบงก์ชาติถูกแทรกแซงจากรัฐบาล ย่อมอาจถูกใช้เป็นเครื่องมือในการปล่อยกู้ ตามนโยบายของรัฐบาล หรือปล่อยให้เกิดการแทรกแซงของนักการเมืองในการปล่อยสินเชื่อของธนาคารพาณิชย์ ทำให้ระบบเศรษฐกิจอยู่ในภาวะที่มีความเสี่ยงสูง

ความเป็นอิสระเป็นเงื่อนไขที่จำเป็นสำหรับความน่าเชื่อถือของธนาคารกลาง การให้อิสระแก่แบงก์ชาติ จึงน่าจะเป็นประโยชน์มากกว่าการแทรกแซงได้โดยรัฐ

ดังนั้น ผู้ที่มีอำนาจในการตัดสินใจควรพิจารณาให้รอบคอบ ก่อนที่จะลดอำนาจแบงก์ชาติ และเพิ่มอำนาจแก่รัฐ
บทความ ของ ศาสตราจารย์ ดร. เกรียงศักดิ์ เจริญวงศักดิ์ (Profressor Kriengsak Chareonwongsak, Senior Fellow at Harvard University's Center of Business and Government and an Associate) credit by www.kriengsak.com

No comments: