"30 บาท" พาชาติล่มจมจริงหรือ?
ดร.วิโรจน์ ณ ระนอง กรุงเทพธุรกิจ วันที่ 14 พฤศจิกายน 2545
ยังไม่รู้ว่า ในที่สุดแล้วประชาชนผู้เสียภาษี จะแบกภาระจากโครงการเหล่านี้คนละเท่าไร ยังไม่มีภาพว่าภาระของโครงการ 30 บาท จะเป็นอย่างไรในระยะยาว
credit image from bangkokbiznews.com |
ในช่วงหาเสียงเลือกตั้งที่พรรคไทยรักไทยประกาศ "นโยบาย 30 บาทรักษาทุกโรค" นั้น มีเรื่องเล่าว่า ผู้สมัคร ส.ส.หลายคน ไม่กล้านำนโยบายนี้มาหาเสียง เพราะคิดว่าคงเป็นไปไม่ได้ ที่พรรคจะสามารถนำนโยบายนี้มาใช้จริง กรณีที่ได้รับเลือกตั้ง
ผู้สมัคร ส.ส.กลุ่มนั้นคงไม่ใช่คนส่วนน้อยที่มีภาพเช่นนั้น เมื่อได้ยินคำว่า "หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า" เพราะคำถามที่ยังได้ยิน อยู่ทุกวันนี้ มีตั้งแต่ "30 บาท จะเอาเงินมาจากไหน" "30 บาท ทำประเทศล่มจมแน่" ไปจนถึง "30 บาท จะเพิ่มหนี้ให้คนไทยอีกเท่าไร"
ในขณะเดียวกัน เมื่อร่าง พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เข้าสภา ก็จะได้ยินข่าวลือว่า "รัฐบาลจะรวมกองทุนประกันสังคม เพื่อเอาเงินมาโปะ 30 บาท" และ "รัฐบาลจะเปลี่ยนโครงการสวัสดิการข้าราชการ เพื่อเอาเงินมาโปะโครงการ 30 บาท"
และก็มีข่าวว่า "โครงการ 30 บาท มีงบไม่พอ ต้องไปเอามาเพิ่มจากงบกระตุ้นเศรษฐกิจ" สารที่ "ข่าว" เหล่านี้สื่อออกมา ดูจะสอดคล้องกับความกังวลของแพทย์ และผู้ประกอบวิชาชีพอื่นๆ อีกจำนวนไม่น้อย และสอดคล้องกับความห่วงใย ของผู้คนจำนวนมากว่า "โครงการ 30 บาท ให้เงิน รพ.น้อยเกินไป"
ถึงแม้ว่าถ้ามองอีกมุมหนึ่ง ก็อาจจะมีคำถามได้เช่นกันว่า ถ้า รพ.เองยังได้เงินไม่พอแล้ว โครงการนี้จะสามารถเป็น "ตัวการ" ทำประเทศล่มจมได้หรือ? แม้ว่าเราจะไม่สามารถตอบคำถามนี้ด้วยคำว่า "ไม่" แต่คำตอบ ณ วันนี้ก็คือ "ยังไม่ใช่"
ปัญหาประการหนึ่งของโครงการนี้ก็คือ วิธีการจัดสรรงบประมาณที่ไม่ได้ทำอย่างโปร่งใสนัก โดยหลังจากที่รัฐบาลได้ผันโครงการ 30 บาท ออกมาชิมลาง "นำร่อง" ตั้งแต่ต้นปี 2544 และได้ฤกษ์เริ่มโครงการ "ตกร่อง" ของจริงในปีงบประมาณ 2545 นั้น จะด้วยสาเหตุอะไรก็แล้วแต่ สำนักงบประมาณได้จัดสรรงบให้โครงการ 30 บาทในปีงบประมาณ 2545 เพียง 47,998 ล้านบาท โดยในจำนวนนี้ เป็นงบที่จะส่งให้สถานพยาบาลประมาณ 45,000 ล้านบาท
ซึ่งเมื่อหารด้วยอัตราที่รัฐบาลเหมาจ่าย ให้โรงพยาบาล 1,202.40 บาท/คนแล้ว ก็จะเห็นได้ว่า งบนี้เพียงพอสำหรับผู้มีสิทธิ 37.4 ล้านคนเท่านั้น ทั้งที่กระทรวงสาธารณสุข ประมาณการเอาไว้ตั้งแต่แรกว่า จะมีประชากรที่มีสิทธิในโครงการนี้ไม่น้อยกว่า 46 ล้านคน
จริงอยู่ ในช่วงที่สำนักงบประมาณจัดสรรงบนั้น ยังไม่มีความชัดเจนว่า โครงการนี้จะดำเนินการพร้อมกันทั้งประเทศในเดือนตุลาคม 2544 แต่ก็ดูเหมือนว่า วิธีการจัดสรรงบในปีงบประมาณ 2546 จะสอดคล้องกับสมมติฐานที่ว่า สิ่งที่สำนักงบประมาณพยายามทำก็คือ จัดสรรงบให้ต่ำเอาไว้ก่อน โดยไม่สนใจว่า รัฐบาลมีพันธะสัญญาอะไรกับใครอย่างไรบ้าง
หลายท่านอาจบอกว่า นั่นคือหน้าที่ของสำนักงบประมาณ แต่ก็จะต้องไม่ลืมว่าสำนักงบประมาณมีหน้าที่ "จัดสรร" งบให้สอดคล้องกับนโยบายของรัฐ ซึ่งอาจจะหมายความว่า ในแต่ละปี สำนักงบประมาณมีหน้าที่ตัดงบบางหน่วยงานลง และไปเพิ่มให้บางหน่วยงาน ให้สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาล ไม่ใช่เพิ่มงบให้ทุกหน่วยงานทุกปี โดยแบ่งกันไปหน่วยงานละนิดละหน่อย
ถ้าถามว่าตัวเลข 47,998 ล้านบาท มาจากไหน สำนักงบประมาณก็คงจะหามาแสดงให้ดูได้ แต่ถ้าดูในภาพรวมก็จะเห็นได้ว่า ตัวเลขนี้ทำให้งบของกระทรวงสาธารณสุขเพิ่มขึ้นจาก 61,097 ล้านบาท ในปีงบประมาณ 2545 ขึ้นมาเป็น 65,876 ล้านบาท ในปีงบประมาณ 2545 หรือเพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 7.8
ในสถานการณ์ปกตินั้น การที่กระทรวงสาธารณสุขได้งบเพิ่มขึ้น ในอัตรานี้คงจะถือได้ว่าไม่น้อย แต่หลังจากที่มีโครงการ 30 บาทแล้ว กระทรวงสาธารณสุข จะต้องแบ่งงบบางส่วนให้ รพ.ในสังกัดกระทรวงอื่น และโรงพยาบาลเอกชนที่เข้าร่วมโครงการด้วย ซึ่งถ้าหักแค่งบส่วนแรกออก ก็พอจะเห็นได้ว่า งบที่สำนักงบประมาณจัดให้นั้น ไม่ได้เปลี่ยนไปจากงบที่เคยจัดสรรให้ ในระบบเดิมแต่อย่างใด
โดยถ้าไม่มีโครงการ 30 บาท สำนักงบประมาณก็คงจะจัดงบ ให้กระทรวงสาธารณสุข พอๆ กับที่จัดสรรให้ในปีงบประมาณนี้ จึงหนีไม่พ้นที่โครงการ 30 บาทจะใช้เงินมากกว่างบที่ตั้งเอาไว้ และในที่สุดต้องไปเอามาเพิ่มจากงบกลาง (ซึ่งรัฐบาลเรียกว่า งบกระตุ้นเศรษฐกิจ) อีก 5,000-7,000 ล้านบาท ซึ่งถ้าจะว่ากันไปแล้ว งบส่วนนี้คืองบที่โครงการ 30 บาทได้รับ "เพิ่มขึ้น" จากเดิมจริงๆ ในปีงบประมาณที่ผ่านมา
สรุปแล้วในปีแรกของโครงการ 30 บาทนั้น ที่ให้สิทธิการรักษาพยาบาล กับประชาชนเพิ่มขึ้น 26 ล้านคนนั้น รัฐบาลต้องควักกระเป๋าเพิ่มขึ้นจากปีก่อน ประมาณหนึ่งหมื่นล้านบาท เฉลี่ยแล้วตก 400 บาทต่อคน สำหรับคนที่ได้รับสิทธิเพิ่มขึ้นจากโครงการนี้ เงินหนึ่งหมื่นล้านบาทนี้คิดเป็นร้อยละ 1 ของงบประมาณทั้งปี
ซึ่งเป็นเงินจำนวนน้อยมาก เมื่อเทียบกับโครงการอื่นๆ ของรัฐบาล ตั้งแต่ TAMC ไปจนถึงโครงการพักหนี้เกษตรกร ซึ่งทุกวันนี้ยังไม่มีใครรู้ว่า ในที่สุดแล้วประชาชนผู้เสียภาษีจะแบกภาระ จากโครงการเหล่านี้กันคนละเท่าไร เรายังไม่มีภาพว่า ภาระของโครงการ 30 บาท จะเป็นอย่างไรในระยะยาว แต่ภาพการต่อรองงบประมาณในปีงบประมาณ 2546 ที่กำลังจะมาถึง ก็ไม่ได้ต่างจากภาพในปีที่ผ่านมาเท่าใดนัก
ทั้งนี้ สำนักงบประมาณตั้งเป้าไว้ตั้งแต่แรกว่า จะให้งบกระทรวงสาธารณสุข 70,000 ล้านบาท โดยยังคงใช้ตัวเลขเหมาจ่าย 1,202.40 บาท/คน ในการคำนวณ ทั้งๆ ที่คณะอนุกรรมการการเงินการคลัง ภายใต้คณะกรรมการบริหารหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ที่มี ศ.อัมมาร สยามวาลา เป็นประธาน จะคำนวณตัวเลขออกมาอยู่ที่ 1,414 บาท/คน และกระทรวงสาธารณสุข จะปรับตัวเลขนี้ลงมาเหลือ 1,322 บาท/คน
โดยใช้ข้อสมมติว่า ผู้มีสิทธิส่วนหนึ่งจะยังไม่มาใช้บริการ การที่สำนักงบประมาณยังคงตั้งงบประมาณสำหรับโครงการนี้ไว้ต่ำกว่า ตัวเลขที่กระทรวงสาธารณสุข จะจ่ายให้สถานพยาบาล จะนำไปสู่วัฏจักรเดิมที่เกิดขึ้นในปีนี้ กล่าวคือ เมื่อถึงปลายปีงบประมาณหน้า กระทรวงสาธารณสุข จะต้องมาของบเพิ่มเติมจากงบกระตุ้นเศรษฐกิจ
และงบที่ดูเหมือนว่า จะน้อยเมื่อตอนต้นปี ก็จบลงด้วยข่าวที่ว่า "โครงการ 30 บาท งบไม่พอ ต้องไปเอามาเพิ่มจากงบกระตุ้นเศรษฐกิจ" อีกครั้งหนึ่ง ซึ่งก็ไม่รู้เหมือนกันว่า ในที่สุดแล้วสำนักงบประมาณ หรือรัฐบาลจะได้หรือเสียจากการจัดการงบประมาณโดยวิธีนี้
แต่ไม่ว่ากลวิธีการเสนอตัวเลขจะเป็นอย่างไร เราก็พอจะคาดการณ์ได้ว่าโครงการ 30 บาทคงจะได้งบเพิ่มขึ้นไม่มากนัก และคงจะไม่มีโอกาส นำพาประเทศชาติล่มจมได้อย่างที่หลายฝ่ายกลัว แต่ก็คงไม่ใช่เรื่องแปลกอีกเช่นกันว่า วิธีการจัดสรรงบแบบนี้ จะสร้างความกังวล กับสถานพยาบาลจำนวนมาก และโรงพยาบาลหลายแห่ง จะพยายามแก้ความกังวลนี้ โดยพยายามลดค่าใช้จ่ายลง โดยจำกัดการเข้าถึงบริการหรือคุณภาพของบริการ
ในขณะเดียวกันกับที่ประชาชนที่ถือ "บัตรทอง" ก็จะเรียกร้องคุณภาพ ของบริการมากขึ้น ทั้งสองฝ่ายจึงจะยังคงมีความทุกข์ (ในคนละแบบ) กันต่อไป
+++++++++
ดร.วิโรจน์ ณ ระนอง เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการวิจัย และเป็นหัวหน้าโครงการ ติดตามประเมินผลการจัดหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า TDR)