ปรับ "ค่าจ้างขั้นต่ำ" ต้องคิดให้ลึกรอบด้าน
ศ.ดร.เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์ กรุงเทพธุรกิจ วันที่ 1 พฤษภาคม 2547
ค่าจ้างขั้นต่ำถือว่าเป็นรายได้ในระดับมาตรฐานของการดำรงชีพขั้นต่ำที่สุด (minimum standard of living) ที่มนุษย์คนหนึ่งพึงได้รับ หากได้รับค่าจ้างในระดับที่ต่ำไปกว่านี้ แรงงานผู้นั้นจะไม่สามารถดำรงชีพอยู่ได้
การกำหนดค่าจ้างขั้นต่ำแท้ที่จริงจึงมีวัตถุประสงค์ด้านมนุษยธรรมเป็นหลัก ทั้งนี้ แรงงานถือเป็นประชาชนกลุ่มใหญ่ของประเทศ การกำหนดค่าจ้างขั้นต่ำให้มีอัตราเพิ่มขึ้นโดยอีกนัยหนึ่งจึงเป็นการเพิ่มรายได้ให้กับประชาชน ซึ่งอาจจะเป็นวิธีการหนึ่งในการกระตุ้นเศรษฐกิจจากการเพิ่มขึ้นของกำลังซื้อของประชาชน และยังเป็นวิธีการในการกระจายรายได้ให้กับคนยากจน รวมทั้งอาจทำให้ความเหลื่อมล้ำของรายได้ลดลง
หากพิจารณาด้วยแนวคิดทางทฤษฎีเศรษฐศาสตร์ การกำหนดค่าจ้างขั้นต่ำมีทั้งข้อดีและข้อเสียที่ควรทำความเข้าใจ ดังนี้
ข้อดีของการมีค่าจ้างขั้นต่ำ ในกรณีที่การบังคับใช้ค่าจ้างขั้นต่ำมีประสิทธิภาพ จะทำให้แรงงานในระบบได้รับการคุ้มครองตามกฎหมาย ทำให้คนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นและมีความมั่นคงในชีวิตมากขึ้น เนื่องจากค่าจ้างไม่ขึ้นลงตามกลไกตลาด นอกจากนี้ ค่าจ้างขั้นต่ำยังอาจช่วยลดความเหลื่อมล้ำระหว่างค่าจ้างระหว่างแรงงานหญิงและชาย และทำให้ครัวเรือนของแรงงานไร้ฝีมือมีรายได้เพียงพอ ส่งผลทำให้ความยากจนลดลงอย่างมีนัยสำคัญ
ในทางกลับกันข้อเสียของการมีค่าจ้างขั้นต่ำ อาจทำให้นายจ้างไม่จ่ายค่าจ้างแก่ลูกจ้างตามความจำเป็นของลูกจ้างหรือตามผลิตภาพ(ฝีมือ)ของลูกจ้างแต่ละคน แต่ให้ค่าจ้างเป็นอัตราเดียวกันทั้งหมด คือตามอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ ลูกจ้างที่มีฝีมือดีกับลูกจ้างที่มีฝีมือต่ำกว่าได้รับค่าจ้างในอัตราที่เท่ากัน ส่งผลทำให้ไม่เกิดการจูงใจให้แรงงานพัฒนาตนเอง
การเพิ่มอัตราค่าจ้างขั้นต่ำยังทำให้แรงงานไร้ฝีมือถูกผลักออกจากการจ้างงานในระบบจำนวนมากขึ้น และกลายเป็นแรงงานนอกระบบที่ไม่ได้รับการคุ้มครองตามกฎหมายคุ้มครองแรงงาน รวมทั้งยังทำให้ค่าจ้างนอกระบบต่ำลงด้วย เพราะแรงงานกลุ่มดังกล่าวที่ย้ายออกไปทำงานในภาคเศรษฐกิจนอกระบบ จะทำให้อุปทานของแรงงานนอกระบบเพิ่มขึ้น
นอกจากนี้ การขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำอาจจะทำให้นายจ้างรับภาระต้นทุนค่าจ้างแรงงานที่สูงกว่ามูลค่าผลผลิตที่ได้จากแรงงาน ทำให้สูญเสียความสามารถในการแข่งขัน นายจ้างจึงอาจเปลี่ยนไปใช้เครื่องจักรแทนแรงงานหากคุ้มกว่าการจ่ายค่าจ้างแรงงาน ส่งผลให้ความต้องการจ้างแรงงานลดลง
ในกรณีที่มีการขึ้นค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำบ่อยครั้ง อาจจะทำให้ธุรกิจไม่สามารถวางแผนต้นทุนการผลิตล่วงหน้าได้ เพราะค่าจ้างอาจจะสูงขึ้นขณะที่ราคาสินค้าไม่สามารถขึ้นได้ทันที นอกจากนี้ยังมีผลทำให้สินค้าส่งออกมีราคาสูงขึ้น และไม่สามารถแข่งขันในตลาดโลกได้ การปรับอัตราค่าแรงขั้นต่ำบ่อยๆ ยังอาจจะทำให้แรงงานที่เป็นคนชอบพักผ่อน (prefer to rest) ไม่มีแรงจูงใจจะพัฒนาตนเองเพื่อที่จะหารายได้มากขึ้น
สำหรับประเทศไทยนั้น เนื่องจากตลาดการจ้างงานมีแรงงานไร้ฝีมือจำนวนมาก และในปัจจุบันตลาดแรงงานอยู่ในสภาพที่มีอุปทานแรงงานส่วนเกินอยู่แล้ว ดังนั้นหากมีการยกเลิกการกำหนดค่าจ้างขั้นต่ำ น่าจะทำให้แรงงานไร้ฝีมือมีค่าจ้างลดต่ำลงทันที แต่แรงงานไร้ฝีมือจะมีงานทำมากขึ้น เนื่องจากค่าจ้างที่ลดต่ำลงจะจูงใจให้นายจ้างหันมาจ้างแรงงานไร้ฝีมือมากขึ้น
ทำให้เกิดการดึงดูดการลงทุนจากต่างชาติเข้ามามากขึ้น โดยเฉพาะการลงทุนในอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานเข้มข้น ส่วนราคาสินค้าจะต่ำลงและส่งออกสินค้าราคาถูกได้มากขึ้น แต่ผลกระทบที่เกิดขึ้นคือจะไม่ทำให้เกิดการพัฒนาเทคโนโลยีการผลิต เนื่องจากผู้ประกอบการไม่มีแรงจูงใจจะใช้เครื่องจักรแทนแรงงาน ขณะที่ผู้ที่ทำอาชีพอิสระและแรงงานที่มีรายได้สูงจะไม่ได้รับผลกระทบแต่อย่างใด
ประเด็นเกี่ยวกับค่าจ้างขั้นต่ำเป็นประเด็นที่ละเอียดอ่อนและส่งผลกระทบในหลายด้านดังที่ได้กล่าวไปแล้วข้างต้น ดังนั้นผู้มีอำนาจในการตัดสินใจจึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องพิจารณาอย่างละเอียดรอบคอบ ไม่สามารถพิจารณาแต่เพียงประเด็นใดประเด็นหนึ่งได้ การเพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำอาจหมายถึงความอยู่ดีกินดีของประชาชนบางส่วนและอาจหมายถึงการถูกปลดออกจากงานของประชาชนบางส่วนด้วยเหมือนกัน
การขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำในขณะที่ระดับฝีมือแรงงานไม่ได้เพิ่มขึ้นอย่างสอดคล้องกับค่าแรงที่เพิ่มขึ้น อาจกลายมาเป็นผลกระทบทางอ้อมต่อระดับราคาสินค้าที่อาจสูงขึ้นจากการมีต้นทุนในการผลิตสูงขึ้น
ค่าแรงที่เพิ่มขึ้นอาจเป็นเพียงการเพิ่มขึ้นของจำนวนเงิน แต่กำลังซื้อมิได้เพิ่มขึ้น รวมทั้งยังส่งผลกระทบทำให้กำลังซื้อของคนในประเทศลดลงด้วย ซึ่งทำให้สวัสดิการสังคมในภาพรวมอาจไม่เพิ่มขึ้น ทั้งหมดนี้ล้วนสะท้อนให้เห็นถึงความเกี่ยวโยงและความสำคัญของค่าจ้างขั้นต่ำที่มีต่อเศรษฐกิจและสังคมไทย การตัดสินใจเกี่ยวกับค่าจ้างขั้นต่ำจึงต้องคิดให้ลึกและรอบด้านอย่างแท้จริง
บทความ ของ ศาสตราจารย์ ดร. เกรียงศักดิ์ เจริญวงศักดิ์ (Profressor Kriengsak Chareonwongsak, Senior Fellow at Harvard University's Center of Business and Government and an Associate)
credit by www.kriengsak.com
ความรู้ ความคิด ไมตรีจิต ความดี ของ ศาสตราจารย์ ดร.เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์
Tuesday, November 6, 2007
Saturday, May 12, 2007
Wednesday, May 2, 2007
Saturday, April 28, 2007
Monday, April 23, 2007
Sunday, April 22, 2007
Subscribe to:
Posts (Atom)